Thursday, January 03, 2013

การ"ทำสี" และ "ทาสี" ดิน

 การทำสีดิน หรือ สีธรรมชาติ ไม่รอช้าลงมือทำกันเลยดีกว่า


เริ่มจาก มาเตรียมอุปกรณ์ และลงมือทำกันเลยดีกว่

1. เตรียมดิน เลือกดิน ตามสีที่ต้องการหาได้ตามธรรมชาติ แต่ดินที่นำมาทำสีต้องทำการร่อนให้มีขนาดละเอียดเสียก่อน ถึงจะดีและสวย

2.ทรายละเอียด (ทรายที่ได้จากการร่อน)


3. เตรียมกาว หรือ แป้งข้าวเหนียวต้ม ที่ผมใช้เพราะหาซื้อง่ายตามท้องตลาด และ ราคา ไม่แพง ใครจะใช้แป้งอย่างอื่นแทนก็ได้ตามที่ท้องถิ่นนั้นหาง่ายสะดวก แต่ผมเคยทำแต่แบบนี้ เวลาต้มต้องทำการต้มให้ได้แป้งข้าวเหนียวอย่าให้มันเหนียวถึงขนาดเป็นก้อน เวลาผสมกับดินจะเข้ากันได้ยาก


4. นำดินที่ร่อนเรียบร้อยใส่กาละมังที่เตรียมไว้ แล้วเทน้ำสะอาด(น้ำเปล่า)ลงไปในดินเพื่อให้น้ำได้เปียกทั่วถึงดิน หรือ ทำการคนเพื่อย่นระยะเวลา ปล่อยทิ้งไว้ให้ตกตะกอนให้หมด แล้วทำการเทน้ำทิ้งให้เหลือแต่ดินที่ตกตะกอนซึ่งมีลักษณะเปียก ง่ายต่อการผสมกับกาวที่เตรียมไว้


 5. หลังจากนั้นก็ทำการเทกาวที่เราได้เตรียมไว้ลง ผสมกับดินที่ได้จากขั้นตอนที่ 4 คลุกเคล้าให้เข้ากัน ผสมให้มีลักษณะให้เหมือนสีทาบ้านที่สุด แต่โดยทั่วไปจะมีลักษณะข้นกว่า เมื่อผสมเข้ากันได้ดีแล้ว ก็เททรายลงไปผสมด้วยในปริมาณ ประมาณ 1 ใน 10 ของดิน ทรายมีคุณสมบัติช่วยลดการแตกของดินหลังจากที่ทาสีเสร็จ (ใส่ทรายมากไปก็ร่อนง่าย น้อยไปก็อาจจะทำให้เกิดรอยร้าว)

     สีที่ดีต้องเหลว พอเหมาะ ถ้าเนื้อดินมากเกินไป เวลาทาสี จะยาก และเวลาทาจะทำให้หนา ผลที่ตามมาคือ มีรอยร้าว




 6. ทำการลงมือทาสี ด้วยมือ จากประสบการณ์ที่เคยทาสีบ้านมาซึ่งต่อจากกระบวนการ ฉาบด้วยดิน แต่กระบวนการฉาบด้วยดินเป็นการปรับพื้นให้เรียบในเบื้องต้น แต่ผนังก็มีรอยร้าวเล็กๆอยู่ ดังนั้นต้องทำการทาสีเพื่อให้บ้านดูสวยงามและปกปิดรอยแตกร้าวเล็กๆเหล่านั้น


ภาพก่อนทาสี (หลังจากฉาบแล้ว)


ภาพหลังทาสี


     เป็นยังไงบ้างครับ ผมเองหวังว่าสหายท่านที่มาอ่านบทความนี้คงจะเข้าใจในเบื้องต้น ได้พอสมควร แต่ถ้าจะให้ได้ความรู้จริงๆต้องลงมือปฏิบัติครับผม....

Tuesday, January 01, 2013

จับ"ปลาข่อน"



     ย่างเข้า "ฤดูหนาว" ที่ผมคาดหวังว่าจะหนาว คราวนั้น ผมกลับบ้านไปช่วงเทศกาลออกพรรษา ปี 2555 ฤดูกาลที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ ทำให้ที่บ้านผมนั้นทำนาเสร็จอย่างรวดเร็ว ก่อนวันออกพรรษาตั้ง 1 วัน ที่เสร็จเร็วๆแบบนี้ ก็อาศัยคนเหล็กมาเกี่ยวให้ละครับ (แม่เป็นคนจัดการทั้งหมด)
 
     เช้าวันที่ 7 พฤศจิกายน 2555 ผมกระตือรือร้น ที่จะตื่นมาเพื่อสูดอากาศบริสุทธิ์ และ อยากจะย้อนวันวานที่เหมือนจะหวานอยู่อีกครั้ง ความคิดในวัยเยาว์ได้ผลุบๆโผล่ๆ เข้ามาในหัว ผมถือกล้อง(เก็บหลักฐาน) และ ถังสี เดินลงทุ่งนา พร้อมกับหลานชายวัยรุ่นสไตล์นิโกร ชื่อ "ยู" วิ่งนำหน้าผมไปเพื่อเป็นการแสดงว่า เขาได้เจอสิ่งที่ผมอยากจะสัมผัสอย่างมากก่อนตัวผม.........

     สภาพน้ำน้อยๆ แห้งขอด แบบนี้ ภาษาอีสานเขาเรียกว่า "น้ำข่อน" ซึ่งหมายถึง บริเวณที่น้ำเกือบจะแห้งแล้ว แต่ไปรวมอยู่มุมใดมุมหนึ่งของทุ่งนา ซึ่งมีบริเวณที่เป็นหลุมและต่ำกว่า ทำให้น้ำมากระจุกอยู่บริเวณนี้

     เสียงดัง แกร็ดๆ ๆ ๆ ๆ ออกมาจากน้ำข่อน นั่นหมายถึงว่า มี "ปลาข่อน" อยู่ บางท่านไม่เคยได้ยินอาจเข้าใจผิดคิดว่าเป็นปลาสายพันธุ์ใหม่ "ยู" ไม่รอช้าลงจับปลาข่อนทันที ด้วยความกระตือรือร้นเป็นพิเศษ


     ไม่นานนัก หลานของผมก็เริ่มอวด "ปลาข่อน" ..... "น้าเทียม ยูได้ตัวใหญ่กว่า หลายกว่า....." เสียงจากหลานชายของผม

     ผมและหลานชาย ช่วยกันจับ ปลาที่ได้ก็ได้แ่ก่ ปลาหมอ ปลาช่อน ปลาดุก แต่มีแต่ตัวเล็กๆ สาเหตุก็เพราะว่าฝนมาช้าและไม่ต่อเนื่องทำให้ปลาออกมาไข่ในช่วงฤดูน้ำหลากช้า และลูกปลาก็ใช้ระยะเวลาเติบโตไม่นาน
     สักพักหนึ่ง ปลาก็หมด แต่แค่นี้ ก็อิ่มกันทั้งครอบครัวแล้ว ผมและหลานจึงกลับมาล้างแขนและขา แต่หลานของผม จัดหนักละครับงานนี้ ลงว่ายน้ำในบ่อปลา สบายใจก่อนไปโรงเรียนซะงั้น

     นี่ก็เป็นความสุขเล็กๆน้อยๆ จากวิถีชีวิต คนชนบท อย่างผมและหลาน ซึ่งในปัจจุบัน คนที่เข้ามาอยู่ในสังคมเมืองยากที่จะสัมผัสและเข้าใจได้ถึงความสุขตามวิถีนี้ .....
 คุณแม่ ก้มหน้าก้อมตาไม่มองกล้องเลย....


     ผมไม่ได้ไปจับแค่วันเดียวนะครับ เพราะน้ำไม่ได้แห้งพร้อมกันซะทีเดียว ผมใช้เวลาจับหลาข่อนประมาณ เกือบสัปดาห์ ไปจับคนเดียวมั่ง ไปจับกับ "คุณแม่ของผม" มั่ง.................เอาเป็นว่า กินข้าวกับปลาจนเบื่อกันเลยละครับ แถมยังได้แบ่งปันเพื่อนบ้านอีกเพราะกินไม่หมด...............


     บ่ายๆ วันที่ 12 เดือนนั้นเอง ผมก็ต้องกลับมา สมุทรปราการเพื่อดำเนินตามวิถี....ที่ไม่อยากเป็นต่อไป...เพื่อชีวิตที่ดีขึ้น (หรือเปล่า....???)

กระเทียม 1 มกราคม 2556 เขียนที่ บางโฉลง