Thursday, May 16, 2013

"เกาะขาม" การเดินทาง มิตรภาพ กับละอองทะเล


เช้าวันที่ 12 เมษายน พ.ศ.2556 ผมนอนตื่นตั้งแต่เช้าตรู่ นั่นก็คือ ตี 4 ครึ่ง ซึ่งผมมิอาจข่มตาให้หลับต่อไปอีกได้ สาเหตุก็เพราะว่า ผมมีนัดสำคัญกับพี่ชาย พี่ษา นายช่างโยธา ประจำตำบล สะพานไม้แก่น ซึ่งอาสา เป็นไกด์นำเที่ยว ทะเลฝั่งอ่าวไทย ใกล้ๆบ้าน


ก่อนออกเดินทางเรานั่งดื่มชา และ กาแฟ คนละแก้ว เราออกเดินทางประมาณ 6 โมงเช้า ไปถึงลาดสดอำเภอจะนะ เพื่อซื้อ เหยื่อปลา(กุ้งสด) และก็อาหารเพื่อประทังชีวิต


ต่อจากนั้นเราก็เดินทางต่อมุ่งหน้า ผ่านถนน สายจะนะ - มุ่งสู่ตำบลสะกอม ซึ่งเป็นถนนหลวง 4 เลน หลังจากเดินทางประมาณ 10 นาที เราก็เจอป้าย ก็เลี้ยวซ้ายเข้า ถนนลาดยางเล็กๆเพื่อไปหาด เข้าไปประมาณ 3-4 กิโลเมตร ก็จะถึงหาดสะกอมครับ






เราทั้งคู่เดินทางไปถึง ผมรู้สึกดีใจมากมาย แต่พี่ษา ชักไม่แน่ใจว่า จะลงทะเลได้ไหม เพราะว่าเรือที่เราจะใช้เดินทางไปเกาะขามมีขนาดเล็กมาก ประกอบกับคลื่นในทพเลไม่สงบ ทะเลยังมีคลื่น ตามที่ใช้สายตามองไกลๆ สำหรับผมว่าไม่เท่าไร แต่พี่ษาบอกว่า นี่เราอยู่ไกลเฉยๆ




พี่ษาต้องไปถามชาวบ้านแถบนี้ถึงสองครั้ง เราถึงตัดสินใจลงไป ผมไม่รู้อะไรมากมายเพราะใจมันไปแล้ว แต่พี่ษา ก็ห่วงผม แต่เพื่อไม่เป็นการขัดศรัทธามหาชน เราจึงลงไปท่านมกลางคลื่นสูงประมาณสัก 0.7 -1.0 เมตร ได้ คลื่นมาห่างๆ แต่มันก็ทำให้ผมตื่นเต้นมากและรู้สึกได้ถึงพลังของทะเล เราขึ้นๆลงๆตามกระแสคลื่น ยิ่งพายออกไปไกลเข้า มันทำให้ผมรู้สึกว่า "เราเปรียบเสมือนละอองทะเล ชีวิตมันช่างไม่มีค่าอะไรเลย" เราใช้เวลาพายเรือประมาณ 30 นาที ก็ถึงเกาะ




เราถึงเกาะขามเวลาประมาณ 9  นาฬิกา พอไปถึงเกาะ พี่ษา ไม่รอช้า จัดการกับเบ็ดตกปลาทันที พี่ษาสอนให้รู้จักใช้เบ็ดตกปลา เป็นครั้งแรกที่ได้ตกปลาในทะเล ได้พายเรือลงทะเล ตื่นเต้นจริงๆ



เราตกปลาสักสองชั่วโมง ท้องก็เริ่มร้อง เราทั้งคู่เลยขึ้นไปบนเกาะจัดการกับอาหารที่เตรียมมา นั่นคือ ข้าวเหนียวกับไก่ทอด คนละห่อ พอประทังชีวิต





 หลังจากทานข้าวเที่ยงเสร็จ เราก็เดินพักผ่อนให้อาหารย่อย แต่ที่พลาดไม่ได้คือ ป้ายเกาะขาม เพื่อเก็บภาพเป็นที่ระลึก ดังภาพที่เห็นนั่นแหละ อยู่ในซอกหลืบกลางสุมทุมพุ่มไม้ เป็นเครื่องหมายที่บ่งบอกว่า เกาะนี้ ไม่ได้พัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว และ ผู้คนที่มาเยือนก็น้อยนิด


                 

หลังจากนั้นเราก็ลงไปตกปลาอีกรอบ คราวนี้ ได้สักพักก็รู้สึกถึงลมแรงอ้อมเกาะมา เรือไม่อยู่นิ่ง คลื่นแรงขึ้น เป็นสัญญาณบอกว่า กลับขึ้นฝั่งได้แล้ว ผมกับพี่ษา จึงต้องขึ้นฝั่งทันที ทั้งๆที่อากาศสุดแสนดี ไม่มีแดด




เราเก็บของเดินทางทันที พอมาถึงระหว่างทาง คลื่นเริ่มแรง ผมรู้สึกมันส์มาก ทั้งๆที่กลัว พอเรามาถึงฝั่ง โดยสวัสดิภาพ พี่ษาบอกว่า ถ้าออกมาช้ากว่านี้ 10 นาที  รับรอง ระหว่างทาง เจอคลื่นหนักแน่ เป็นบุญของเราจริงๆครับ




เราขึ้นมาจากทะเลก็มาอาบน้ำที่นี่ครับ "ครัวริมควน" ซึ่งเป็นร้านอาหารนั่งริมหาดสะกอม เจ้าของใจดีมากครับให้อาบน้ำจืดฟรี ขอบขอบคุณมา ณ ที่นี้ด้วย 



หลังจากนั้นเราก็เดินทางกลับบ้าน ด้วยหัวใจอันเบิกบาน ขอขอบคุณ "พี่ษา" เจ้าภาพนำเที่ยวในครั้งนี้ด้วยในทุกๆเรื่องครับผม ขอบคุณมากครับ...


สุดท้ายฝากกันหน่อย ในเรื่องของ ขยะ ที่เรานำไปด้วย ขอความกรุณา นำไปแล้ว นำกลับด้วยนะครับ โดยเฉพาะขยะที่เป็นพลาสติก ขวด หรือพวกขยะย่อยยาก ควรนำกลับมาด้วยนะครับคงไม่หนักหนาสาหัสอะไร .........................ท้องทะเลหรือสิ่งแวดล้อมของเราในทุกๆที่ จะได้คงสภาพน่าท่องเที่ยวน่าดูชมตลอดเวลาครับ

ขอบคุณมากครับ

Saturday, May 11, 2013

ลํกษณะดินและคุณภาพของก้อนดินดิบ


จากประสบการณ์การทำงานบ้านดินอันน้อยนิดของผม ครั้นเมื่อผมเดินทาง ไปทำบ้านดิน ต่างสถานที่ นั่นคือที่ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ด้วยความไม่ชินพื้นที่ และสภาพอากาศและสภาพดิน ทำให้ผมประเมินสถานการณ์ผิดถนัด และกลายเป็นบทเรียนที่ผมต้องมาทำการบ้านอย่างหนัก ซึ่งทำให้ผมได้มาถ่ายทอดประสบการณ์ครั้งนี้ ให้เพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ สหาย ได้รับรู้ รับทราบกัน



คุณภาพของก้อนดินดิบ คือหัวใจสำคัญอีกส่วนหนึ่งในการทำบ้านดิน เพราะถือว่าเป็นโครงสร้างหลักของบ้าน (บ้านดินโดยทั่วไปไม่ใช้เสา)  ซึ่งวิธีการในการทดสอบคุณภาพของดิน แบบง่ายๆ ที่ผมได้เรียนรู้มาจากประสบการณ์ ของผม ได้จากการทดสอบดินโดยวิธีการโยนก้อนดิน แล้วสังเกตลักษณะของดินที่แตก



ดินที่ไร้คุณภาพ ลักษณะของเนื้อดินที่แตก เป็นลักษณะแตกออกจากกันง่ายมาก เป็นเม็ดเล็กๆกระจาย เป็นก้อนเล็กๆ หรือ บางที เป็นผงดินร่วนไปเลย ดินที่ผมเคยเจอก็คือ ดินลูกรังที่มีความเหนียวอยู่แต่มีหินค่อนข้างมากเกินไป ไม่เหมาะจะมาทำก้อนดินครับ

ดินได้คุณภาพ ลักษณะของเนื้อดินที่แตก แตกยาก แตกครึ่ง หรือ แตกแล้วยังมีลักษณะเป็นก้อน จับดูเนื้อดินที่แตกเป็นก้อนยังมีความแข็งอยู่ ดินที่เคยเจอมาก็คือ ดินเหนียวที่มีดินทรายปนอยู่บ้าง แต่ไม่ใช่ดินเหนียว 100% ไม่ใช่ดินร่วน (แตกง่าย)


วิธีการที่จะทดสอบดินแบบง่ายๆและเพื่อให้ได้คุณภาพของก้อนอิฐที่ดี คือ

1. เลือกดินที่มีคุณสมบัติข้างต้น
2. ลงมือทำอิฐแม่แบบ เพื่อใช้ในการทดสอบ สัก 5-10 ก้อน
3. หลังจากแห้งแล้ว ทำการทดสอบ ด้วยวิธีการโยน ตามวิธีการข้างต้น



เมื่อทดสอบแล้วเราก็สามารถสรุปได้ว่าดินที่เราทำมีคุณภาพมากเพียงใด ทำให้เราสามารถตัดสินใจได้ว่า ดินที่เราจะนำมาทำบ้านนั้นมีความมั่นใจว่าแข็งแรงคุณภาพดี และ ทำให้เราลงมือทำได้โดยไม่ลังเลใจว่า ดินที่เราทำอยู่นั้นจะไม่เสียเวลา เสียแรง ทำไปเปล่าๆ...

ดินที่ดินมีคุณภาพ นำไปสู่ บ้านแข็งแรง สวยงาม ทนทาน ง่ายต่อการดูแลรักษา ครับ