Thursday, October 18, 2012

การทำซุ้มประตูหน้าต่างโค้ง (Archway)

 
การทำซุ้มประตูหน้าต่างโค้ง

เห็นรูปแล้ว นึกถึง หนังแนวโรมันเลยครับเนี่ย รูปนี้ ......เป็นงั้นไป เอาละครับ  บทความนี้ ผมเขียนขึ้นมาเพราะ ผมไม่เคยลงมือทำ บ้านดินที่มีประตูหน้าต่าง แบบนี้ ผมเลยศึกษาและ เอาความรู้ที่ศึกษามาแบ่งปันกันครับ......

มาดูวิธีการง่ายๆ ครับ

โมเดล ตัวอย่างครับ





ถาม : ทำซุ้มประตูหน้าต่างโค้งอย่างไรนะ ?

ตอบ : ไม่อธิบายดีกว่าครับ แต่จะให้ดูคลิปวีดีโอแทนนะครับ ชัดแจนดี...

ตัวอย่าง ... ตอนท้ายสาเหตุที่ล้ม เพราะ เป็นแบบจำลองที่ไม่ได้เชื่อมด้วยปูน หรือ ดิน เพียงแค่วางเรียงกันและ ใส่ลิ่มเท่านั้น


 




ดูไปแล้ว ง่ายใช่ไหมละครับ ผมเอง หวังว่าบทความนี้ คงเป็นประโยชน์กับผู้อ่านอย่างมากนะครับ เพราะสำหรับผมเองนั้น คิดว่ามันสุดยอดครับ......เจอกัน บทความหน้าครับ

เขียนโดย คนหัวฟู กระเทียม สุรินทร์

ราคาบ้านดิน โดย สยามบ้านดิน

ราคาบ้านดิน Cost of Baandin



ท่านที่คิดสร้างบ้านดิน รบกวนตอบคำถามคร่าว ๆ เหล่านี้ให้ได้ค่ะ
1. ขนาดของบ้านดินที่ต้องการกี่ตารางเมตร
2. มีพื้นที่ใช้สอยอย่างไร เช่น จำนวนห้องน้ำ ห้องนอน ห้องคร้ว ห้องนั่งเล่น เฉลียงหน้าบ้าน-หลังบ้าน จำนวนประตู-หน้าต่าง (ถ้าสามารถบอกได้ว่า ต้องการวัสดุเป็นไม้เนื้อแข็ง ไม้เนื้ออ่อน หรือไม้เก่า ก็จะดีค่ะ) จำนวนสวิทช์ไฟ, ต้องการบ้าน 1 หรือ 2ชั้น  ...

3. หลังคาบ้านดิน เช่น หลังคากระเบื้องลอน หลังคากระเบื้องดินเผา หลังคาไม้ หลังคาหญ้าคา ฯลฯ รวมถึง
4. โครงสร้างหลังคาต้องการโครงสร้างหลั้งคาไม้กลม โครงสร้างหลังคาเหล็ก
5. พื้นบ้าน ท่านต้องการพื้นดิน พื้นปูนขัดมัน พื้นไม้ พื้นกระเบื้อง ฯลฯ
6. โครงสร้างตัวบ้าน เช่น โครงสร้างไม้ไผ่ โครงเหล็ก ฯลฯ
7. งบประมาณ ถ้าคุณกำหนดงบประมาณไว้แล้ว เราสามารถเริ่มต้นที่จุดนี้ พร้อมกับคำตอบในข้อ 1-2 แล้ว
เจ้าหน้าที่สยามบ้านดินก็จะสามารถประเมินราคาบ้านดินพร้อมกับวัสดุที่เป็นไปได้สำหรับงบประมาณนั้น ๆ ค่ะ


คนส่วนใหญ่ที่ไม่คุ้นเคยกับการตอบคำถามเหล่านี้ ดิฉันขอเสนอว่าลองดูแบบบ้าน หรือแคตตาลอกบ้าน
โครงการต่าง ๆ รวมถึงขนาด และพื้นที่ใช้สอยที่โฆษณาตามหนังสือพิมพ์เป็นตัวอย่าง แล้วประเมินปรับให้เข้ากับความต้องการของตนเอง ก็เป็นวิธีที่ดีนะคะ เมื่อได้คำตอบว่าต้องการขนาดบ้านและใช้สอยอย่างไรแล้ว นำรายละเอียดเหล่านั้นมาเล่า ให้เราฟังอีกที เพื่อประเมินราคาให้ก็ได้ค่ะ เพราะขณะนี้มีผู้สนใจสอบถามราคา สร้างบ้านดินเข้ามาจำนวนมาก ทว่าให้ข้อมูลเพียงว่า จะสร้างบ้านดิน ราคาเท่าไร? ต้องการบ้านดินแบบ 2 ห้องนอน ราคาเท่าไร หรือ บ้านดิน 1 ชั้นราคาเท่าไร บ้านดิน 2 ชั้นราคาเท่าไร หรือ...

มีหลายบทความที่กล่าวว่าบ้านดินมีราคาถูก 30,000-40,000 ก้สร้างได้ จะว่าไปก็ไม่ผิดนักหรอกค่ะ
เพียงแต่ว่าบ้านดินราคานี้จะเป็นบ้านที่เจ้าของสร้างขึ้นเอง ไม่มีค่าแรง ไม่มีกำหนดเวลา ไม่มีฐานรากก็ได้ พร้อม
ยอมรับสภาพได้ถ้ามีเหตุให้บ้านที่ปั้นเองต้องบุบสลาย เพราะต้นทุนไม่สูง ลองปั้นใหม่ได้ แต่ถ้าคุณว่าจ้างสยาม
บ้านดิน สร้างบ้านให้คุณสักหลัง ด้วยงบประมาณต่ำเทียบเท่าคอมพิวเตอร์ 1 ตัว แล้วถ้าบ้านทรุดตัวเพราะไม่มี งบประมาณสำหรับวัสดุโครงสร้้างจำเป็นบางส่วน เราเชื่อว่าเจ้าของบ้านท่านนั้นก็ไม่สามารถยอมรับได้ เพราะถือว่า ได้ว่าจ้างไปแล้ว

บ้านดินราคาถูกอาจเพราะยังไม่ได้รวมราคาวัสดุสำหรับโครงสร้างบ้าน หลังคา กระเบื้อง การทำพื้น
ประตู-หน้าต่าง ฯลฯ เข้าไปด้วยค่ะ เพราะคงปฏิเสธไม่ได้ว่า ทุกคนอยากได้บ้านที่มีความมั่นคงแข็งแรงไม่ต่างจาก บ้านทั่วไป โดยที่ยังคงมีความงามของบ้านดินที่มีส่วนรักษาสภาพแวดล้อม และอยู่อย่างเป็นมิตรกับธรรมชาติด้วย ถ้าลองคิดจินตนาการสักนิด การว่าจ้างหน่วยงานใดสร้างบ้านดินขึ้นมา ซึ่งเขาต้องบริหารจัดการ มีช่าง 4-5 คนเป็นอย่างน้อยเพื่อทำงานให้เสร็จงานตามกำหนดเวลาใน 2-3 เดือนแล้ว แต่ถ้าผู้ว่าจ้างผูกใจกับคำว่าบ้านดินราคาถูก เตรียมงบประมาณราว 30,000-40,000 บาท ซึ่งท่านลองคำนวนเฉลี่ยค่าแรงงานคน 4-5 คน กับระยะเวลา 2-3เดือน แล้วจะเห็นว่า ค่าแรงช่างจะได้ราว 2,600 บาท/เดือน/คน ซึ่งเป็นไปไม่ได้ เพราะช่างเองก็อยู่ไม่ได้จากค่าจ้าง และลักษณะงานดังกล่าว (บางโครงการต้องมีช่างสร้างมากกว่า 5 คน)

จากประสบการณ์ของเราเอง พบว่าบางท่านติดต่อกับเราโดยต้องการบ้านขนาด 100 กว่าตารางเมตร แบ่งเป็นหลายห้องนอน มีพื้นที่ใช้สอยหลายส่วน แต่มีงบประมาณไม่กี่หมื่นบาท เพราะไม่เคยมีใครให้ข้อมูลก่อนว่าการทำบ้านดินให้ออกมา มีความแข็งแรงทนทานจะต้องมีเรื่องของฐานรากและโครงสร้างที่สำคัญประกอบอยู่ด้วย รวมถึงประเภทและยี่ห้อของวัสดุที่ใช้ เช่น กระเบื้องปูพื้น กระเบื้องหลังคา ชักโครก ประเภทของไม้ประตู-หน้าต่าง โครงสร้างที่เลือกใช้ เหล่านี้ล้วนมีส่วนกระทบต่อ ราคาทั้งสิ้น อย่างไรก็ดี บ้านดินที่เสร็จสมบูรณ์ พร้อมอยู่อาศัยอย่างจริงจังเช่นบ้านทั่วไปนั้นก็ยังมีราคาถูกกว่าบ้านปูนทั่วไป ตั้งแต่ 40%ขึ้นไปค่ะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะถูกกว่าบ้านจัดสรรโครงการต่าง ๆ หลายเท่าตัว เมื่อเปรียบเทียบถึงขนาด และพื้นที่ใช้สอยที่เหมือนกัน ตัวอย่างเช่น บ้านจัดสรรตามแคตตาลอกทั่วไป ขนาด 100 ตรม. ราคา1,500,000-5,000,000บาท แต่ถ้าสร้างบ้านดินขนาดเท่ากัน พื้นที่ใช้สอยเหมือนกันจะมีราคาราว 600,000 บาทเป็นต้นไป ขึ้นอยู่กับว่าท่านเจาะจงเลือกใช้วัสดุยี่ห้อใด คุณภาพใด เป็นต้น

สำหรับท่านที่ยึดมั่นว่าควรปั้นบ้านดินได้ราคาถูกอย่างที่ศึกษาจากบทความต่าง ๆ เราจึงขอเสนออีกทางเลือกหนึ่ง คือ เข้าอบรม หรือร่วมกิจกรรมอาสาสร้างบ้านดินต่าง ๆ เพื่อนำความรู้ที่ได้ไปสร้างบ้านดินของท่านให้อยู่ในงบประมาณที่ตั้งใจไว้ค่ะ เพราะท่านจะได้ประสบการณ์กับตัวเองและดัดแปลง หรือประยุกต์ใช้วัสดุต่าง ๆ แทนการซื้อหาตามร้านก่อสร้างต่าง ๆ เพื่อให้ได้บ้านดินตามเป้าประสงค์ของตนเองได้

เขียนโดย บ.สยามบ้านดิน จก.

อ้างอิง http://www.siambaandin.com/index.php?option=com_content&task=view&id=28&Itemid=41

ราคาบ้านดิน/ผนังดิน ในนิวซีแลนด์ (งานแปลจากBaandin.org)




ราคาบ้านดินของบริษัทในนิวซีแลนด์ 
เขียนโดย แปลและเรียบเรียงจากหนังสือ โดย ธนา อุทัยภัตรากูร  

จากประสบการณ์ของเรา (http://www.solidearth.co.nz/)
๑ ใน9 ของราคาค่าก่อสร้างทั้งหมดโดยประมาณ เป็นค่าใช้จ่ายในการทำผนังดิน

๘๐๐ - ๑๕๐๐ +GSTี ต่อพื้นที่อาคาร 1 ตารางเมตร ขึ้นอยู่กับว่าเราลงมือทำเองแค่ไหน
๑๗๐ +GST ต่อพื้นที่ผนัง 1 ตารางเมตร รวมฉาบและทำสี
ราคาประมาณของผู้รับเหมา อ้างอิงจากราคาวัสดุของบริษัท SolidEarth

ราคาของบ้านดินถ้าเทียบกับบ้านธรรมดาทั้วไปจะมีราคาแพงกว่า, แต่บ้านดินมีคุณภาพที่ดีกว่าบ้านไม้ทั่วไป เพราะมีความเป็นฉนวนสูง (ลดค่าใช้จ่ายเพื่อทำความร้อน) และเพราะว่ามันให้บรรยากาศภายในบ้านที่ดีกว่า

ผู้สร้างด้วยตัวเอง

๑ ใน 3 ของค่าก่อสร้างผนังคือค่าแรง คุณจึงสามารถลดค่าใช้จ่ายนี้ได้โดยการสร้างด้วยตัวเอง
ถ้าคุณทำอิฐเอง ก็จะสามารถลดค่าใช้จ่ายได้มากขึ้น
จากผลการศึกษา
อ้างอิงจาก Website ของ Earth Building Association of New Zealand (www.earthbuilding.org.nz/index.html)
การศึกษาเมื่อปี 1992 ได้ผลเปรียบเทียบด้านล่าง

ผู้สร้างบ้านดินด้วยตัวเอง 520/ตร.ม.
ผู้สร้างบ้านไม้ด้วยตัวเอง 590/ตร.ม.
จ้างผู้รับเหมาสร้างบ้านไม้ 880/ตร.ม.
จ้างผู้รับเหมาสร้างบ้านดิน 1000ขึ้นไป/ตร.ม.
หมายเหตุ : ผู้สร้างบ้านดินเองหมายถึงการลงมือทำด้วยตนเอง ยกเว้นงานวางท่อน้ำ สายไฟ ฯลฯ

ขนาดอิฐมาตรฐษนของเรา (http://www.solidearth.co.nz/)
อิฐสี่เหลี่ยม 280 x ๒๘๐ x ๑๓๐ มิลลิเมตร
อิฐก้อนครึ่ง 430 x ๒๘๐ x ๑๓๐ มิลลิเมตร
อิฐครึ่งก้อน 280 x ๑๕๐ x ๑๓๐มิลลิเมตร

ราคา
รวมกับความหนาของดินก่ออีก 20 มิลลิเมตรจะได้ความกว้างต่อก้อนเป็น 300 มิลลิเมตร และความหนา 150 มิลลิเมตร ซึ่งจะช่วยให้สามารถคำนวนจำนวนอิฐที่จะใช้ได้ง่ายขึ้น
ต่อผนัง 1 ตารางเมตร ใช้อิฐ 23 ก้อน

อิฐดินสำหรับทำพื้นของSolidEarth
แผ่นพื้นทำขึ้นโดยใช้มาตรฐานเดียวกับอิฐสำหรับก่อ หลังจากแห้งแล้วเสริมความแข็งโดยใช้น้ำมัน แล้วขัดสำหรับยึคด้วยวัสดุจากธรรมชาติ

ขนาดมาตรฐานของเรา 280 x ๒๘๐ x ๘๐มิลลิเมตร
รวมกับความหนาของดินก่ออีก 20 มิลลิเมตร แผ่นพื้นนี้ออกแบบมาสำหรับวางให้ได้ความสูง 100 มิลลิเมตร แผ่นพื้นนี้สามารถตัดได้ง่าย
พื้น 1 ตารางเมตร ใช้แผ่นพื้น 11-12 ก้อน

ดินฉาบของ SolidEarth
เราเตรียมดินก่อไว้หลากหลายชนิดสำหรับผนังทีต้องการ สี และพื้นผิวที่แตกต่างกัน โดยไม่ทำให้ผนังแตกร้าว

ราคา
อิฐดินสี่เหลี่ยม 3.50 + GST
อิฐก้อนครึ่ง 4.80 + GST
อิฐครึ่งก้อน 2.00 + GST
แผ่นพื้น 3.50 + GST
ดินก่อ 80.00 + GST ต่อหนึ่งคิว
ราคาทั้งหมดไม่รวมค่าขนส่งถึงสถานที่ก่อสร้าง

* หน่วยเงินในบทความนี้ทั้งหมดเป็น ดอลล่าห์นิวซีแลนด์

แปลและเรียบเรียงจากหนังสือ http://www.solidearth.co.nz/index.htm
โดย ธนา อุทัยภัตรากูร

อ้างอิง http://www.baandin.org/web/index.php?option=com_content&task=view&id=87&Itemid=0

Tuesday, September 25, 2012

การฉาบผนังดิน

 

     หลังจากที่ทำการก่อเสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และก็ปล่อยให้แห้งสนิท ก็จะได้ผนังตามรูปนะครับ เห็นไหมครับว่า พื้นผิวของผนังยังไม่เป็นที่ ราบเรียบเท่าใดนัก (ยกเว้นคนชอบงานแบบนี้)



    ทีนี้เรามาว่าเรื่องการฉาบเลยดีกว่า ว่าทำไงกันบ้าง

1. จัดการกับเศษดินที่เป็นส่วนเกิน โดยการ เอาจอบ หน้าเรียบ ขูดผนังเลย ครับ ขุดให้เศษดินที่เป็นส่วนเกินจากการก่อ ออกให้เรียบในระดับหนึ่ง (แย่เลยงานนี้ผมลืมบันทึกภาพเอาไว้)
     สำหรับบ้านของผมด้านในผมฉาบเรียบธรรมดา ด้านนอกเซาะร่อง ทำให้งานมันก็เพิ่มรายละเอียดขึ้นมาครับ
     หลังจากที่ ขูดดินแล้ว ผนังด้านนอกผมก็ทำการเซาะร่องโดยใช้ เสียม ครับ เซาะตามรอยก่อของอิฐดินดิบที่เราก่อไว้ ไม่อยากใช่ไหมครับ โดยความกว้าง และ ลึก ของร่องเอาเป็นว่า ตามความเหมาะสมของ เจ้าของบ้านก็แล้วกัน สวยยังไง ก็เอาตามนั้นว่า ดังภาพครับ

 ด้านนอกบ้าน
 นี่ครับชัด ขูดและเซาะร่องแล้ว แต่ยังไม่ฉาบ
 ผนังด้านใน ขุดแต่ไม่เซาะร่อง

2. จัดการฉาบโดยการ เอาดินส่วนผสมเดียวกับที่เราก่อนั่นแหละ แต่ต้องมีความเหลวกว่า ฉาบด้วยมือ โดย ฉาบจากล่างขึ้นบน ให้ทั่วผนัง หรือเอาง่ายๆ ฉายยังไงก็ได้ให้ทั่วผนัง เพื่อปรับผิวให้เรียบกว่าเดิม ก่อนจะทำการ ฉาบรอบสุดท้าย หรือ ที่เรียกว่า ขั้นตอนการทาสี

เมื่อฉาบเสร็จ ผนังด้านนอก

เมื่อฉาบเสร็จ ผนังด้านใน

     เห็นแล้วเป็นยังไงครับ มันมีรอยร้าวเล็กๆใช่ไหมครับ อย่าตกใจไปครับ เพราะ ยังไม่เสร็จ เหลือขั้นตอนการ ทาสี ผนังอีกครับ.....ติดตามในบทความต่อไปแล้วกันครับ

Friday, September 21, 2012

วิธีการก่ออิฐดินดิบ

     ต่อจากบทความที่แล้ว มาต่อด้วย การก่ออิฐดินดิบ แบบจริงจังกันเลย ขึ้นแรกก็มาดูอุปกรณ์ที่แนะนำเวลาจะใช้ก่อ โดยปกติแล้วงานปูนจะใช้ เกรียงแหลม


      แต่สำหรับ บ้านดิน ใช้มีดพร้าครับ  เอ........................ บางคนชักสงสัยว่าเอามาทำไมล่ะสิครับ  บอกให้เลยนะครับ เอาไว้มา แต่งดินเพราะดินที่ได้อาจจะมีส่วนเกินงอกออกมา หรือ เอาไว้ แบ่งดินออกเป็นส่วนๆ เพราะการก่อบล๊อคโดยทั่วไปจะต้องใช้ครึ่งก้อน หรอื ไม่ถึงครึ่งก้อนอยู่แล้ว
    ต่อมาก็เป็น ถัง ครับ เอาไว้ตักดินมาก่อ เอามาเริ่มวิธีการกันเลย

1. ผสมดิน (เหมือนที่เราทำก้อนอิฐดินดิบ อาจจะเหลวกว่าสักนิดก็ได้)


*** สำคัญมาก สังเกตไหมครับว่า คานบ้านผม กว้างอย่างน้อยก็ 8 นิ้ว เพราะบล๊อคที่ผมทำกว้าง 8 นิ้ว คานที่รับน้ำหนักนี้แนะนำเลยว่าต้อง มีขนาดแข็งแรง รองรับผนังที่มีน้ำหนักมากๆได้อย่างดี คานต้องแยกดินผนังที่ก่อและพื้นดินข้างๆบ้านอย่าให้เชื่อมกันจะดีมาก เพราะเป็นตัวพาความชื้นจากพื้นดินสู่ผนังครับ และที่สำคัญ ถ้า สามารถเทพื้นบ้านไปก่อน ก็ยิ่งดีครับ (สามารถกันปลวกจากพื้นขึ้นมาได้) 

2. เริ่มการก่อ วิธีการก่อก็ใช้มือล้วนๆ วิธีก่อก็เหมือนกับอิฐบล๊อค (บทความที่แล้ว) ดูแล้วง่ายไหมครับ

บ้านผมนั้น ไม่ใช้ สายเส้นเอ็นในการเช็ค และ ดิ่ง ระดับใดๆ เลย สายตาล้วนๆๆๆ ไม่ห่วงครับ




 ตรงเสาผมก็ก่อให้นูนเด่นออกมา เป็นเสาโชว์ ส่วนด้านในก็ราบเรียบ.....


 บ้านผมเป็นบ้านดัดแปลงครับ ใช้เสาช่วยรับน้ำหนัก เพราะบ้านดินปกติ ไม่ต้องใช้เสาครับ เป็นระบบกำแพงรับน้ำหนัก


สำหรับการก็อิฐดินดิบก็ไม่มีไรมาก..........วันนี้ จบแค่นี้แหละนะครับ......

เขียนเมื่อ วัน ศุกร์ ที่  21 กันยายน 2555
เวลาประมาณ 21.00
ณ. บ้านเอื้ออาทร บางโฉลง ครับ...


Thursday, September 20, 2012

หลักการก่ออิฐ (ดิน บล๊อคต่างๆ)

หลักการก่ออิฐเบื้องต้น
เขียนโดย ธนา อุทัยภัตรากูร  



หลักการก่ออิฐเบื้องต้น
     บ้านดินส่วนใหญ่ในเมืองไทยสร้างโดยใช้เทคนิควิธีแบบอิฐดินดิบ โดยพื้นฐานแล้วผนังอิฐดินดิบนี้เป็นการก่อสร้างในระบบผนังรับน้ำหนัก หมายถึงการที่ผนังทั้งหมดทำหน้าที่เหมือนเป็นเสารับน้ำหนักจากด้านบน เพราะฉะนั้นการก่ออิฐที่ดีจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก การก่ออิฐที่ถูกวิธีจะช่วยให้การถ่ายน้ำหนักลงสู่ฐานรากและพื้นอย่างสมดุล

     ช่างก่อสร้างโดยส่วนมากจะมีทักษะในการก่ออิฐมอญ ซึ่งลักษณะการก่อของอิฐดินดิบนั้นไม่ต่างกันมากนัก แต่ระบบการรับน้ำหนักนั้นต่างกันมาก เพื่อความเข้าใจในการก่ออิฐที่ถูกต้อง ผมจึงเขียนบทความนี้ขึ้น สำหรับผู้ที่อาจจะไม่คุ้นชินกับการก่ออิฐมอญ และโดยเฉพาะกับการก่ออิฐเพื่อเป็นผนังรับน้ำหนัก

     ก่อนที่จะอธิบายถึงการก่ออิฐ ผมขออธิบายความแตกต่างระหว่างโครงสร้าง 2 ประเภทที่ต่างกัน ได้แก่
  
1. โครงสร้างแบบเสาและคาน เป็นลักษณะโครงสร้างที่เห็นได้ทั่วไปในปัจจุบัน โครงสร้างแบบนี้จะใช้คานเป็นตัวรับน้ำหนักทั้งหมด แล้วถ่ายน้ำหนักนั้นลงไปที่เสาและถ่ายแรงนั้นจากเสาลงสู่ฐานรากที่อยู่ใต้ ดิน เมื่อน้ำหนักส่วนใหญ่ถูกถ่ายลงไปที่เสาแล้ว ผนังก่ออิฐมอญทั่วไปที่เราเห็นจึงทำหน้าที่เพียงแค่ฉากกั้น และรับน้ำหนักตัวของมันเอง(รวมทั้งวงกบประตู-หน้าต่าง) โครงสร้างแบบนี้เอื้อในการออกแบบหน้าต่างที่กว้างมาก ๆ ได้ เพราะตัวผนังนั้นไม่ต้องรับน้ำหนักในส่วนของโครงสร้าง
   

2. โครงสร้างแบบผนังรับน้ำหนัก เป็นลักษณะโครงสร้างที่เห็นได้จากอาคารประเภท โบสถ์ วิหาร หรือกำแพงเมืองโบราณ โครงสร้างแบบนี้ตัวผนังเองถือเป็นตัวรับน้ำหนัก เปรียบเหมือนการนำเสามาวางเรียงต่อกันจนกลายเป็นผนัง ซึ่งทำให้โครงสร้างแบบนี้ไม่สามารถทำช่องเปิดได้มากนัก ถ้าต้องการให้มีช่องเปิดต้องมีทับหลังที่แข็งแรงพอ หรือก่ออิฐเป็นช่องเปิดโค้งเพื่อถ่ายแรงไปยังผนังที่อยู่ด้านข้าง




     การก่ออิฐของผนังรับน้ำหนักจึงสำคัญกว่าการก่ออิฐมอญเพราะเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างที่จะรับน้ำหนักทั้งของตัวมันเองและของโครงสร้างที่อยู่ด้านบน หลักการง่าย ๆ ของการก่ออิฐคือการให้รอยต่อของอิฐแต่ละชั้นเหลื่อมกันครึ่งก้อน หรืออย่างน้อยที่สุดต้องเหลื่อมกันเป็นระยะ ๑๐ เซนติเมตร ผนังอิฐที่ก่อไม่ควรมีรอยต่อซ้อนกัน (ดังภาพ)
 


การก่อที่ไม่ถูกต้องจะทำให้การรับน้ำหนักของผนังไม่กระจายออก ทำให้เกิดแรงเฉพาะจุดอาจะทำให้ทรุด เมื่อมีน้ำหนักกดในส่วนที่ก่อไว้ไม่ดีอาจทำให้เกิดการร้าว
 
 
 

จากหลักการที่กล่าวมา ผมจึงเขียนตัวอย่างของการก่ออิฐในส่วนต่าง ๆ ของอาคาร ไว้เป็นแนวทาง

1. การก่ออิฐในส่วนมุมของอาคาร มุมของอาคารเป็นส่วนที่สำคัญเพราะเป็นจุดตัดของอาคาร ซึ่งต้องทำหน้าที่ทั้งรับน้ำหนัก และช่วยค้ำผนังทั้งสองข้างไม่ให้ล้มง่าย





2. การก่ออิฐผนังรูปตัว T เป็นอีกส่วนหนึ่งของอาคารที่มีความ สำคัญ เนื่องจากถ้าผนังเชื่อมต่อกันไม่ดีอาจเกิดอาการฉีกขาดของผนัง อาจทำให้ผนังล้มได้ การก่ออิฐผนังรูปตัว T นั้นสามารถก่อได้หลายแบบ ที่เขียนไว้คือเทคนิควิธีหนึ่งเท่านั้น ขอเพียงก่อตามหลักการคือไม่ให้รอยต่อของอิฐแต่ละชั้นตรงกันก็ถือว่าใช้ได้






3. การก่อผนังลอย เป็น ลักษณะเดียวกับการก่ออิฐชนประตูหรือหน้าต่าง ถ้าต้องการก่อเป็นผนังตรงยื่นออกมา ไม่ควรก่อออกมายาวมากเกินไป หรือถ้าจะก่อออกมายาว ควรก่อผนังให้โค้ง มีครีบหรือหักเป็นรูปตัวT เพื่อช่วยให้ผนังมีความแข็งแรง







4. การก่อเสา ใน บางครั้งเราอาจต้องการเสาดิน ให้ก่ออิฐสลับกันในแต่ละชั้น ในกรณีนี้ อิฐที่ใช้ควรออกแบบให้มีความยาวเป็น 2 เท่าของความกว้าง (เช่น 6"x12" หรือ 8"x16") เพื่อให้เสาเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสเท่ากันทั้งสองด้าน เราอาจใช้มีดพร้าถากเพื่อลดมุม หรือทำให้เป็นเสากลมก็ได้





อ้างอิงจาก : http://www.baandin.org/web/index.php?option=com_content&task=view&id=168&Itemid=59

ขอขอบคุณข้อมูลดีๆจาก www.baandin.org ครับ

Wednesday, September 19, 2012

การทำอิฐดินดิบ (Making Adobe Bricks)

     อิฐดินดิบ (Adobe Brick) หรือบล๊อคดินที่ไม่ได้่ผ่านกระบวนการทางความร้อนหรือเผานั่นเอง ซึ่งเมื่อนำมาสร้างบ้านหมายถึงว่า อิฐประเภทนี้กลัวน้ำนั่นเอง วิธีการทำ ไม่ได้ยากเย็นแสนเข็ญอะไร แต่ก่อนอื่น ต้องเตรียม แบบหรือแม่พิมพ์ เพื่อจะอัดบล๊อคดินก่อนครับ.....

     ขนาดของอิฐดินดิบที่ผมทำก็คือ กว้าง 8 นิ้ว x ยาว 16 นิ้ว x หนา 4 นิ้ว ครับ ซึ่งเป็นขนาดที่มาตรฐานมาก อาจจะทำใหญ่หรือเล็กกว่านี้ก็ได้ แต่เวลาก่อต้องคำนึงเรื่องน้ำหนักเวลายกด้วย 






     เวลาทำแม่พิมพ์ อย่าลืม ทำที่จับด้วยเวลายกจะได้ง่าย พิมพ์ที่ผมทำต่อครั้งในการยกคือ 6 ก้อน ยก 2 คน ถือว่าเยอะทีเดียว แต่ถ้าไม่มีแรงงานหรือจะทำคนเดียวก็สามารถ ทำแม่พิมพ์ 2 ก้อนได้ (แบบนี้ผมใช้ทำเวลาอยู่คนเดียว)


ส่วนประกอบของอิฐดินดิบ

1. ดิน
     ดินที่ผมเคยทำบ้านที่ผ่านมา ทำบ้านอยู่บนดอย ใน อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ ซึ่งดินมีลักษณสีแดง ค่อนข้างเหนียวสักนิดเมื่อถูกน้ำ ดินที่เหมาะแก่การทำบล๊อคดินคือ ดินที่ลึกจากผิวดินลงไปประมาณ 10-20 ซม. และเป็นดินที่ไม่เคยถูกใช้งานมาก่อน
     ดินอีกที่ที่ผมเคยทำก้อนดินแล้วมีคุณภาพดีคือ ดินที่บ้านผม (สนม สุรินทร์) เป็นดินจากทุ่งนา อยู่ถัดไปจากชั้นหน้าดิน มีลักษณะสีเหลือง ว่าง่ายๆก็คือ เป็นดินที่มีลักษณะเป็นดินเหนียวผสมดินทราย แต่ไม่ใช่ทรายเยอนะครับ
     วิธีทดลองว่าใช้ได้ไม่ได้ก็คือ ขุดเอาดินมาแล้วผสมน้ำ ลองกำแล้วนวดๆดู ถ้ามันเหนียวถือว่าใช้ได้แล้ว

2. เส้นใย
     ส่วนประกอบนี้ถ้าให้ผมเปรียบเปรย มันก็ไม่ต่างกับ เหล็กเส้น หรือ ไม้ไผ่สาน ในงานปูนเพื่อยึดดินไว้ด้วยกัน แต่ว่า เส้นใยในอิฐดินดิบมีคุณสมบัติมากกว่านั้น ในความคิดเห็นของผม รู้สึกว่า เส้นใยจะช่วยทำให้ดินข้นขึ้นและผสมง่ายขึ้น แถมยังช่วยให้แรงดึงในก้อนดินมีความสมดุลอีกด้วย  เส้นใยที่ผมใช้ คือ แกลบ เหตุผลง่ายๆที่ใช้คือ หาง่าย เวลาย่ำก็ง่าย แต่ใครจะใช้อย่างอื่นก็ได้เช่น ฟางสับ หญ้าสับ ขี้เลื่อย เป็นต้น

3. น้ำ
     น้ำก็ขอให้เป็นน้ำธรรมชาติก็พอ และอย่าให้มีสารเคมี เพราะเวลาผสมหรือย่ำดินอาจจะซึมเข้าสู่ร่างกายทางผิวหนังหรือทางแผลได้

วิธีทำอิฐดินดิบ

1. ขุดบ่อคล้ายๆบ่อผสมปูน แต่เอาไว้ผสมดิน
2. นำดินที่เตรียมจะทำบล๊อคดิน ลงแช่ในบ่อกับน้ำ เพื่อให้น้ำซึมเข้าเนื้อดิน ง่ายต่อการย่ำดินให้เข้ากัน
3. พอดินเข้ากะน้ำพอประมาณก็เติมแกลบ แล้วเหยียบจนกว่าจะรุ้สึกเข้ากันทั่วและเหนียบพอเหมาะ


4. เมื่อเข้ากันแล้วก็ตักไปใส่แม่พิมพ์ให้เต็ม แล้วก็ปาดหน้าให้เรียบ (ไม่ต้องเรียบมากยังไงก็ต้องเอาไปก่ออยู่แล้ว) แล้วก็ยกออก ก็ได้ดินเป็นก้อนแล้วครับ เราจะรู้ได้ไงว่าดินจะให้มันเละ หรือ เหลว ขนาดไหน เอาเป็นว่า ถ้าตักใส่แป้นพิมพ์แล้ว มันไม่แบะออกด้านข้าง นั่นแหละใช้ได้แล้ว.....

เทคนิค....เราควรล้างพิมพ์ทุกครั้งหลังยกออก ด้วยผ้าชุบน้ำ ถูๆไถๆ เอาดินออก จะช่วยให้ง่ายในการยกครั้งต่อไปดินจะไม่ติดบล๊อค


5. หลังจากนั้นตากไว้สัก 2- 3 วัน พอดินแข็งตัว แล้วก็พลิกซ้ายขวา ตั้ง ก็ได้ ดินจะได้แห้งเร็วๆ



6. จากนั้นก็นำไปเก็บให้ดีครับกว่าจะไก้ก่อบ้าน เดี๋ยวฝนมาเละแน่ๆ


สำหรับวิธีการทำอิฐดินดิบ ก็จบแล้วด้วยประการทั้งปวงครับ

เขียนเมื่อ วันพุธ ที่ 19 กันยายน 2555 
เวลา 19.00 น. โดยประมาณ
โดย คนหัวฟู กระเทียม สุรินทร์

Tuesday, September 18, 2012

เริ่มต้นของบล๊อคเกอร์....คนหัวฟู...บ้านดิน

สาเหตุที่อยากเป็นบล๊อคเกอร์ กับเขา ก็เพราะว่า อยากแชร์ประสบการณ์ เกี่ยวกับสิ่งที่ตนเองรักชอบ และ โหยหามาตลอด........นั่นก็คือ การใช้ชีวิต กับธรรมชาติมีชีวิตที่เรียบง่ายในแบบฉบับของตนเอง เอาเป็นว่า......วันนี้เป็นวันแรกก็ขอทดสอบด้วยรูปของ บล๊อคเกอร์ ก็แล้วกันครับ

 

ช่วงนี้อาจจะมีแต่เรื่องราวเก่าๆมาแชร์ประสบการณ์....เพราะตอนนี้อาศัยอยู่ในสังคมที่ไม่พึงปรารถนา นั่น คือ สังคมเมือง...